แนะนำ เมนูอาหารเหนือ ทำง่าย ๆ ลำแต้ ๆ เจ้าาาา
สวัสดีเจ้าาาาา บทความวันนี้เราก็จะมาว่าด้วยเรื่องของอาหารจากเมืองเหนือเมืองหนาว ซึ่งอาหารท้องถิ่นหรืออาหารล้านนาจากภาคเหนือนี่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ค่อนข้างเยอะเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของชื่อเรียก, ส่วนผสม, กลิ่น และรสชาติ สำหรับเราแล้วอาหารจากเมืองเหนือจะมีเอกลักษณ์และมีกลิ่นอายประวัติศาสตร์สอดแทรกอยู่ อาหารทุกชนิดจะมีวิธีการปรุงอย่างพิถีพันถันไม่ต่างจากการแสดงฟ้อนรำที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม
อาหารจากภาคเหนือแต่ละพื้นที่ก็จะมีชื่อเรียก, วัตถุดิบ และรสชาติที่แตกต่างกันออกไป นั่นอาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ผสมผสานอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ อย่างอาหารบางชนิดเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วเราก็จะรู้สึกได้ถึงความเป็นไทยย้อนยุคแบบล้านนา ในหัวก็ฉายภาพตัวเองกำลังนุ่งผ้าซิ่นนั่งรับประทานอาหารอยู่หน้าขันโตกที่อัดแน่นไปด้วยอาหารพื้นเมืองพร้อมพูดภาษาเหนือชัดถ้อยชัดคำทั้งที่ไม่เคยฝึกมาก่อน (เว่อมากกกก) นั่นล่ะค่ะ อย่างที่บอกไปแล้วว่าอาหารแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์สอดแทรกอยู่ วันนี้เราจึงชวนเพื่อน ๆ ยกภาคเหนือมาไว้ในครัว ลองทำอาหารเหนือง่าย ๆ ใส่ขันโตกรับประทานดู รับรองว่าลำขนาดเจ้า
1. แกงกระด้าง
เมนูชื่อแปลกจากภาคเหนือที่หลายคนอยากจะลองชิมดูสักครั้งว่ารสชาติมันเป็นยังไง แกงกระด้างถึงจะมีคำว่าแกงแต่กลับไม่มีน้ำแกงให้ซดสักหยดแถมหน้าของอาหารชนิดนี้ยังดูแปลกตาต่างจากอาหารชนิดอื่น ๆ โดยเราจะนำหมูส่วนที่มีไขมันและเอ็นเยอะ ๆ มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตุ๋นกับพริกแกงจนเปื่อยนุ่ม หลังจากนั้นนำไปแช่เย็นให้คอลลาเจนในน้ำแกงแข็งตัวจึงจะตักออกมาเสิร์ฟ เป็นเมนูหน้าหนาวที่ขึ้นชื่อของทางเหนือมาก ๆ เลยค่ะ
วัตถุดิบแกงกระด้าง
- ขาหมูหรือหูหมู
- พริกแกงเผ็ด
- ต้นหอม
- ผักชี
- กระเทียม
- น้ำเปล่า
วิธีทำแกงกระด้าง
นำขาหมูไปเผาไฟจนมีกลิ่นหอม หนังติดไหม้เล็กน้อย จากนั้นขูดเอาขนและส่วนที่ไหม้ออก ขูดจนหนังหมูขาวเลยนะคะ เสร็จแล้วนำขาหมูไปล้างจนหมดเลือด หันมาทุบรากผักชีและกระเทียมรอไว้ จากนั้นตั้งหม้อ ใส่น้ำ เร่งไฟกลางจนน้ำเริ่มเดือดแล้วใส่กระเทียมรากผักชี ตามด้วยขาหมูเผา ตุ๋นไปเรื่อย ๆ จนขาหมูเปื่อย ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ขึ้นอยู่กับขนาดของขาหมูค่ะ ขณะต้มก็คอยตักฟองออก น้ำแกงจะได้สีใส
ขาหมูเปื่อยดีแล้วตักออกมาพักให้หายร้อน ส่วนน้ำซุปก็เก็บไว้ก่อน เราจะไม่ทิ้งนะคะ หมูหายร้อนแล้วเราก็เลาเอาเฉพาะเนื้อหมูแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอากระดูกหมูออกให้หมด ส่วนถ้าเพื่อน ๆ ใช้หูหมูด้วยก็หั่นหูหมูเป็นเส้นเล็ก ๆ ไม่ต้องยาวมาก
เปิดเตาอีกครั้ง อุ่นน้ำซุปหมูจนเริ่มร้อน หลังจากนั้นตั้งกระทะอีกใบ ตักน้ำซุปใส่กระทะแล้วนำพริกแกงลงไปผัดให้หอม ตักน้ำพริกแกงใส่หม้อซุป คนพริกแกงให้ละลายเข้ากับน้ำซุปดีแล้วตามด้วยเนื้อหมู ตุ๋นไฟกลางค่อนอ่อนไปเรื่อย ๆ จนเนื้อหมูเปื่อยขึ้น ชิมรสชาติให้ได้รสเผ็ดกลาง ๆ มีความเค็มอ่อน ๆ และรสหวานจากกระดูกหมู ถ้ายังไม่เค็มก็ปรุงรสด้วยเกลือเพิ่ม
ได้รสชาติที่ชอบแล้วก็ปิดเตาแล้วตักน้ำแกงใส่ภาชนะหรือถาด พักให้หายร้อนสักหน่อยค่อยนำเข้าตู้เย็นเพื่อให้น้ำแกงเซ็ตตัว เมื่อน้ำแกงเซ็ตตัวดีแล้วแกงก็จีมลักษณะเป็นวุ้นเพราะคอลลาเจนและเจลาตินที่ละลายอยู่ในน้ำแกงค่ะ วิธีรับประทานก็ตักแบ่งแกงส่วนหนึ่งออกมา โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชีแล้วทานพร้อมกับข้าวเหนียวร้อน ๆ
2. ไส้อั่ว
อีกหนึ่งเมนูถนอมอาหารจากภาคเหนือที่นิยมรับประทานกันทั่วประเทศ ไส้อั่วจะมีลักษณะและวิธีทำไม่ต่างจากไส้กรอกอีสานสักเท่าไหร่ แต่วัตถุดิบและระยะเวลาในการทำจะทำให้รสชาติของไส้อั่วแตกต่างกับไส้กรอกอีสานอย่างเห็นได้ชัด โดยไส้อั่วจะมีกลิ่นหอมของพริกแกงและใบมะกรูดและรสชาติเผ็ดค่อนข้างจะเข้มข้นสักหน่อยและใช้เวลาทำไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็สามารถรับประทานได้แล้ว ต่างจากไส้กรอกอีสานที่จะมีรสเปรี้ยวจากการหมักในระยะเวลาหนึ่ง
วัตถุดิบไส้อั่ว
- หมูสับติดมัน
- ไส้อ่อนสด
- กะปิ
- พริกแกงเผ็ด
- ใบมะกรูด
- ต้นหอม
- ผักชี
- ผงขมิ้น
- น้ำตาล
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำมันหอย
- น้ำปลา
วิธีทำไส้อั่ว
ล้างไส้อ่อนให้สะอาด โดยการขยำไส้ด้วยเกลือจนหมดกลิ่นคาว หลังจากนั้นใช้กรวยครอบไส้ด้านหนึ่งแล้วกรอกน้ำใส่กรวยเพื่อล้างเอาสิ่งปรกด้านใน ล้างซ้ำจนกว่าน้ำจะใสและไม่มีคราบเมือกหรือเศษสกปรกหลุดออกมา พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ สามารถตัดส่วนบนของขวดน้ำมาทำเป็นกรวยอย่างง่าย ๆ ได้ค่ะ
ซอยใบมะกรูด, ต้นหอม และผักชีรอไว้ นำพริกแกงเผ็ดและหมูสับมาผสมให้เข้ากันดี สามารถปรับลดความเผ็ดได้ตามใจชอบ หลังจากนั้นตามด้วยผักที่ซอยไว้และผงขมิ้นเพิ่มสีสัน ปรุงรสด้วยน้ำตาล, ซีอิ๊วขาว, ซอสหอยนางรม และน้ำปลา คลุกเคล้าให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี พักไว้ในตู้เย็นประมาณ 30 นาทีให้เครื่องปรุงเข้าเนื้อ
คราวนี้ก็ถึงขั้นตอนสำคัญแล้ว ถ้าไส้ที่ซื้อมามีขนาดยาวเกินไปก็สามารถตัดแบ่งท่อนได้ แต่ไม่ต้องแบ่งสั้นมากนะคะ แล้วก็เราจะยังไม่มัดปลายไส้เพื่อไม่ให้มีอากาศติดอยู่ข้างใน นำกรวยยัดใส่ไส้หมูอีกครั้งคราวนี้ยัดเนื้อหมูหมักลงไปเลยค่ะ พยายามรีดให้เนื้อหมูเท่ากันทุกส่วนแต่ไม่ต้องใส่แน่นมาก ใส่จนสุดปลายไส้แล้วเราก็จะมัดปลายไส้ทั้งหัวและท้าย ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มให้ทั่วเพื่อไล่อากาศและกันไม่ให้ไส้แตก
3. น้ำพริกอ่อง
จะทานไส้อั่วให้อร่อยก็ต้องทานกับน้ำพริกอ่องใช่ไหมคะทุกคน อาจจะเป็นเพราะรสชาติเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ของน้ำพริกอ่องมันเข้ากับความเผ็ดหอมของไส้อั่วได้เป็นอย่างดีทำให้อาหารทั้งสองชนิดนี้เข้ากันได้อย่างลงตัว ยิ่งน้ำพริกอ่องมีส่วนผสมเป็นมะเขือเทศก็ยิ่งทำให้เราได้รับสารอาหารและวิตามินที่ดีต่อร่างกายมากขึ้น รสชาติของน้ำพริกอ่องจะมีความเปรี้ยวจากมะเขือเครือ มีรสเผ็ด ๆ หวาน ๆ สามารถทานคลุกข้าวสวยหรือทานกับผักนึ่งก็อร่อยเข้ากัน ทานเพลินแน่นอนค่ะ
วัตถุดิบน้ำพริกอ่อง
- หมูสับ
- มะเขือเครือ (มะเขือเทศลูกเล็ก)
- กะปิ
- ต้นหอม
- ผักชี
- กระเทียมไทย
- หอมแดง
- พริกแห้งเม็ดเล็ก
- พริกแห้งเม็ดใหญ่
- เกลือ
- นำตาล
- นำปลา
- น้ำมันพืช
วิธีทำน้ำพริกอ่อง
ขั้นตอนแรกซอยต้นหอมเตรียมไว้ค่ะ หลังจากนั้นหั่นพริกแห้งเม็ดใหญ่แล้วเคาะเอาเมล็ดและแกนออกให้หมด นำไปแช่น้ำไว้จนนุ่ม เสร็จแล้วล้างทำความสะอาดและหั่นมะเขือเทศเป็นชิ้นเล็ก ๆ รอไว้ค่ะ จากนั้นตำพริก, กระเทียม, กะปิ และหอมแดงให้เข้ากัน หลังจากนั้นตามด้วยหมูสับและพริกแห้งแช่น้ำ ตำให้ส่วนผสมเข้ากัน ถ้าเพื่อน ๆ มีถั่วเน่าแบบแผ่นก็สามารถนำไปย่างไฟแล้วตำผสมกันได้นะคะ จะช่วยให้น้ำพริกหอมอร่อยมากขึ้น
ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน เปิดไฟกลางแล้วนำพริกแกงลงไปผัดจนหอม ถ้าน้ำแห้งยังไม่ต้องใส่น้ำเพิ่มนะคะ ผัดให้เนื้อหมูสุกก่อน เนื้อหมูสุกดีแล้วก็ตามด้วยมะเขือเทศเลยค่ะ ผัดไปเรื่อย ๆ มะเขือเทศจะสุกและมีน้ำออกมาทำให้น้ำพริกของเรามีความเหลวพอดี ปรุงรสด้วยเกลือ, น้ำตาล และน้ำปลา ได้รสชาติที่พอดีแล้วก็ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชีซอยก็พร้อมเสิร์ฟแล้วค่ะ
4. น้ำพริกหนุ่ม
พูดถึงน้ำพริกแล้วจะมองข้ามน้ำพริกสีเขียวอ่อน ดูน่ารับประทานอย่างน้ำพริกหนุ่มก็คงไม่ได้ ด้วยรสชาติที่มีการผสมผสานระหว่างความเผ็ดและความเค็มอ่อน ๆ ที่เข้ากันได้อย่างลงตัว ไหนจะวัตถุดิบและวิธีการทำที่ง่ายและใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถเสกน้ำพริกแสนอร่อยขึ้นมาได้แล้ว ไม่ว่าจะทานพร้อมแคบหมูฟูกรอบหรือผักลวกหวาน ๆ ก็เข้ากันค่ะ นอกจากอร่อยแล้วยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
5. ขนมจีนน้ำเงี้ยว
เปลี่ยนมาทานเมนูเส้นอย่างขนมจีนบ้าง ขนมจีนนี่ถือว่าเป็นเมนูที่สามารถเข้ากันได้กับทุกภาคเลยนะคะ แต่ละภาคก็จะมีน้ำยาที่แตกต่างกันออกไป เช่นภาคกลางก็จะมีน้ำยากะทิ ภาคอีสานน้ำยาป่าทางใต้จะต้องทานคู่กับแกงไตปลา และถ้าพูดถึงขนมจีนภาคเนือแล้วก็ต้องทานคู่กับน้ำเงี้ยวเท่านั้น โดยน้ำเงี้ยวเนี่ยก็ค่อนข้างที่จะมีความเข้มข้น สีก็จะดูเผ็ด ๆ หน่อย เพิ่มความเปรี้ยวด้วยมะเขือเครือ มีกระดูกหมูให้แทะพอกรุบ รสชาติของน้ำซุปก็จะหอม ๆ เผ็ดนิด หวานหน่อย ทานคู่กับผักกาดดองและถั่วงอกเข้ากันสุด ๆ
วัตถุดิบขนมจีนน้ำเงี้ยว
- เส้นขนมจีน
- หมูสับ
- กระดูกหมู
- น้ำพริกน้ำเงี้ยวสำเร็จรูป
- กระเทียม
- หอมแดง
- รากผักชี
- มะเขือเครือ (มะเขือส้ม)
- พริกแห้งเม็ดเล็ก
- ดอกงิ้วแห้ง
- เต้าเจี้ยว
- เกลือ
- น้ำปลา
- น้ำเปล่า
- น้ำมัน
วิธีทำขนมจีนน้ำเงี้ยว
ขั้นตอนแรกเราก็จะนำกะดูกหมูมาขยำเกลือให้หมดกลิ่นคาวเสียก่อน หลังจากนั้นต้มน้ำให้เดือดแล้วนำกระดูกหมูลงลวกเพื่อเอาคราบสกปรกและล้างเลือดออกให้หมด ตักขึ้นมาพักไว้และเทน้ำทิ้งไป ตั้งหม้อใส่น้ำอีกครั้ง คราวนี้ทุบรากผักชีและเกลือใส่ลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟกลางค่อนอ่อนจนน้ำเริ่มร้อนก็ใส่กระดูกหมู ตุ๋นจนเปื่อย
ระหว่างรอตุ๋นกระดูกเราก็หันมาเตรียมส่วนผสมอื่นกันบ้าง เริ่มจากสับกระเทียมทั้งเปลือกให้ละเอียด ตามด้วยซอยหอมแดงให้ละเอียด ล้างมะเขือแล้วผ่าครึ่ง จากนั้นเทเต้าเจี้ยวกรองเอาน้ำออก นำเนื้อถั่วมาตำให้ละเอียดแล้วห่อใบตองนำไปย่างจนแห้งและหอม
นำเต้าเจี้ยวเผามาตำรวมกับน้ำพริกน้ำเงี้ยวให้เข้ากัน พักไว้ก่อน ตั้งกระทะใส่น้ำมัน รอน้ำมันเริ่มเดือดนำพริกแห้งลงไปทอดให้พอกรอบ ตามด้วยกระเทียมสับ เจียวจนเหลืองขึ้นแล้วตักออก เหลือกระเทียมติดกระทะเล็กน้อย นำน้ำพริกที่ตำไว้ก่อนหน้าลงผัดจนหอมตามด้วยหอมแดงซอย ผัดให้ทุกอย่างเข้ากันดีแล้วตามด้วยหมูสับ ผัดต่อจนหมูสุก
หมูสุกดีแล้วก็เทส่วนผสมในกระทะลงหม้อต้มกระดูกหมูเลยค่ะ ตามด้วยดอกงิ้วและมะเขือเครือ ปรุงรสด้วยน้ำปลาอีกเล้กน้อย ต้มจนน้ำยาเดือด ปิดเตาแล้วตักเสิร์ฟพร้อมผักสดได้เลยค่ะ ก่อนรับประทานก็โรยหน้าด้วยพริกทอดและกระเทียมเจียวเล็กน้อยเพิ่มความหอมอร่อย
6. ข้าวซอยไก่
ใครได้มีโอกาสแวะเวียนไปที่ยวภาคเหนือก็คงต้องเคยลองทานเมนูข้าวซอยไก่กันบ้าง ข้าวซอยไก่เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านของชาวล้านนา ดัดแปลงมาจากอาหารของชาวมุสลิมค่ะ ซึ่งข้าวซอยก็จะมีลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยวน้ำข้น โดยการทำน้ำแกงจากกะทิแล้วนำเนื้อไก่ลงไปต้มจนสุกเปื่อย หลังจากนั้นก็จะนำมาราดลงบนเส้นบะหมี่ไข่ลวกสุก โรยหน้าด้วยเส้นบะหมี่ทอดกรอบ ทานคู่กับผักกาดดอง หอมแดงซอย น้ำมันพริก และบีบน้ำมะนาวตัดเลี่ยนอีกเล็กน้อย รสชาติจะเผ็ดนิด ๆ มันหน่อย ๆ มีรสเปรี้ยวปลายลิ้น รวม ๆ ก็จะละมุนอยู่ในปาก ทั้งหอมและอร่อย
วัตถุดิบข้าวซอยไก่
- เส้นข้าวซอย (บะหมี่ไข่เส้นแบน)
- เนื้อไก่
- น้ำพริกข้าวซอย
- ต้นหอม
- ผักชี
- เกลือ
- น้ำตาล
- น้ำปลา
- น้ำกะทิ(หัวและหาง)
- น้ำมันพืช
- น้ำเปล่า
วิธีทำข้าวซอยไก่
ล้างทำความสะอาดน่องไก่เตรียมไว้ จากนั้นนำหางกะทิและเกลือนิดหน่อยใส่หม้อและเปิดไฟกลาง ถ้าไม่มีหางกะทิสามารถใช้หัวกะทิผสมกับน้ำเปล่าได้ค่ะ หลังจากกะทิเริ่มเดือดแล้วนำน่องไก่ลงต้มจนสุกนุ่ม จากนั้นหันมาเทหัวกะทิใส่หม้อ ใส่แค่ครึ่งเดียวก่อนนะคะ หลังจากนั้นเปิดไฟกลางผัดจนหัวกะทิแตกมัน ใส่น้ำพริกข้าวซอยลงไป ผัดจนส่วนผสมหอมและข้นขึ้น เทหัวกะทิส่วนที่เหลือตามลงไป ถ้าน้ำยังข้นมากอยู่ก็เทหางกะทิที่ใช้ต้มไก่ลงไปได้ค่ะ ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล ตามด้วยน่องไก่ หรี่ไฟอ่อนต้มต่ออีกนิดให้น้ำแกงซึมเข้าเนื้อไก่
ระหว่างรอน้ำแกงซึมเข้าเนื้อห็หันมาเตรียมเส้นบ้าง ตั้งหม้อใส่น้ำ เปิดไฟกลางรอน้ำเดือด ระหว่างรอก็หยิบก่อนบะหมี่ขึ้นมายีให้เส้นบะหมี่แยกตัวไม่จับเป็นก้อน แบ่งส่วนหนึ่งลงหม้อลวกจนเส้นบะหมี่สุกลอยขึ้นมาก็ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ ก่อนลวกแนะนำให้ใส่น้ำมันพืชนิดหน่อยกันเส้นติดกันก่อนนะคะ ส่วนเส้นที่เหลือก็นำลงทอดในน้ำมันร้อน ๆ จนเส้นกรอบ ตักขึ้นพักให้หายร้อน จากนั้นเตรียมเส้นเสร็จน้ำแกงก็ได้ที่พอดี ปิดเตา จัดเส้นบะหมี่ลวกใส่ถ้วย ตามด้วยน่องไก่สักชิ้น ราดน้ำแกงลงไปให้ชุ่มฉ่ำ โรยหน้าด้วยเส้นทอดกรอบ ๆ และต้นหอมผักชีซอย ทานพร้อมเครื่องเคียง
7. ไข่ป่าม
อีกหนึ่งเมนูอร่อยจากภาคเหนือที่สามารถทำตามได้อย่างง่าย ๆ เมนูไข่ป่ามจานนี้น่าจะเหมาะสำหรับสาว ๆ ที่รักสุขภาพนะคะเพราะในเมนูอัดแน่นไปด้วยคุณประโยชน์ของไข่เน้น ๆ และมีความเผ็ดร้อนเบา ๆ จากพริก โดยคำว่าป่ามในภาษาเหนือนั้นแปลว่าปิ้ง ดังนั้นเมนูนี้ก็แปลง่าย ๆ เลยก็คือไข่ปิ้งค่ะ แต่ไข่ปิ้งในที่นี้ก็จะมีเอกลักษณ์เพิ่มเข้ามานิดนึงตรงที่ตัวไข่จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของใบตองไหม้ซึ่งมีความหอมจนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมนูนี้ไปเลย บวกกับเนื้อสัมผัสของไข่ที่ด้านล่างจะค่อนข้างแห้งเกรียมเล็กน้อยแต่ด้านบนเนื้อไข่จะเยิ้มคล้ายไข่ยางมะตูม ยิ่งได้ทานตอนร้อน ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความอร่อยมากขึ้นไปอีก
วัตถุดิบไข่ป่าม
- ไข่ไก่สด
- มะเขือเทศ
- ต้นหอม
- พริกจินดา
- ใบตองสด
- เกลือ
- น้ำเปล่า
วิธีทำไข่ป่าม
เราจะมาเตรียมกระทงใบตองกันก่อนโดยการนำใบตองสดมาพับให้มีลักษณะเป็นกระทงโดยที่ด้านล่างจะใช้ใบตองหลาย ๆ ชั้นหน่อย จากนั้นก็กลัดขอบด้วยไม้จิ้มฟัน หรือถ้าเพื่อน ๆ ไม่สะดวกจะกลัดเป็นกระทงเราก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ใบตองทั้งใบก็ได้ค่ะ
หันมาเตรียมวัตถุดิบหลักกันบ้าง เริ่มจากการตอกไข่ใส่ภาชนะ เติมน้ำอีกเล็กน้อย ซอยมะเขือเทศ, พริกจินดา และต้นหอมใส่ลงไปผสม ปรุงรสด้วยเกลือพอประมาณ จากนั้นตีส่วนผสมให้เข้ากันค่ะ เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วก็เทไข่ใส่ลงในกระทงใบตองประมาณ 1/3 ของกระทงเพราะตอนสุกไข่จะฟูขึ้นมาอีก จากนั้นนำกระทงใบตองไปย่างไฟอ่อน ๆ หาฝามาครอบปิดไว้ให้ไอน้ำวนอยู่ภายในช่วยให้หน้าไข่สุกโดยที่ก้นกระทงไม่ไหม้ หลังจากกระทงเริ่มไหม้และหน้าไข่เริ่มเปลี่ยนเป็นยางแล้วก็ยกลงรับประทานได้ค่ะ ส่วนเพื่อน ๆ ที่ไม่ใช้กระทงใบตองและไม่สะดวกในเรื่องของอุปกรณ์ย่างก็สามารถวางใบตองลงบนกระทะก้นลึก เปิดเตาเป็นไฟอ่อน จากนั้นเทไข่ลงไปแล้วปิดฝา รอจนหน้าไข่สุกก็ยกลงพร้อมเสิร์ฟได้เลยค่ะ
8. จอผักกาด
เมนูนี้อาจจะไม่คุ้นหูคนภาคอื่นสักเท่าไหร่ จอผักกาด คือการเอาผักกาดจ้อนหรือผักกวางตุ้งที่กำลังออกดอกมาต้ม ปรุงรสด้วยกะปิและเกลือ บางครั้งก็จะใส่เนื้อสัตว์ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ บางสูตรก็ใส่ถั่วเน่าย่างไฟเพื่อเพิ่มความอร่อย รสชาติของเมนูนี้จะได้รสเปรี้ยวนวล ๆ ของมะขามเปียก ได้ความหวานจากกระดูกหมู และมีความเค็มเล็กน้อยจากเครื่องปรุง ส่วนตัวผักกาดจะมีรสชาติหวานปนขมหน่อย ๆ ส่วนมากจะรับประทานแนมกับพริกแห้งทอดเพื่อเพิ่มความเผ็ดจัดจ้าน เป็นอีกเมนูร้อน ๆ ที่อร่อยถูกใจ
วัตถุดิบจอผักกาด
- ซี่โครงหมู
- ผักกาดจ้อน (ผักกวางตุ้งที่มีดอก)
- หอมแดง
- กระเทียม
- พริกแห้ง
- กะปิ
- ถั่วเน่า
- น้ำมะขามเปียก
- คนอร์หมู
- น้ำมันพืช
- น้ำเปล่า
วิธีทำจอผักกาด
เริ่มต้นด้วยการขยำซี่โครงหมูกับเกลือให้สะอาด จากนั้นล้างทำความสะอาดผักกาดจ้อน หั่นเป็นท่อน ๆ ส่วนก้านแข็งก็ลอกเอาเฉพาะเนื้อสีขาวใส ๆ ด้านใน เสร็จแล้วแช่น้ำเกลือทิ้งไว้สักพัก จากนั้นตั้งหม้อ ใส่น้ำ เร่งไฟกลางรอจนน้ำเดือดนำกระดูกหมูลงต้มจนหมูสุก หลังจากนั้นปรับเป็นไฟอ่อนแล้วเคี่ยวต่อจนหมูนุ่มลง ระหว่างรอก็หันมาตำกระเทียม, พริกแห้ง 2-3 เม็ด และหอมแดงให้เข้ากัน หลังจากหมูนุ่มได้ที่ก็เทเครื่องโขลกใส่หม้อได้เลย จากนั้นหันมาย่างถั่วเน่าจนสุกและเริ่มพอง นำมาโขลกให้ละเอียด เมื่อน้ำเดือดอีกรอบนำผักกาดจ้อนและถั่วเน่า ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกและผงปรุงรส คนอีกหนึ่งยกให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี น้ำเดือดอีกครั้งก็ปิดเตาแล้วตักจอผักกาดใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟได้เลยค่ะ
9. แกงฮังเล
แกงฮังเลเป็นอาหารที่มีความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพม่าและวัฒนธรรมทางภาคเหนือของไทยค่ะ เป็นการนำเนื้อสัตว์ติดมันมาหมักกับพริกแกงและเครื่องเทศ จากนั้นนำมาคั่วจนได้กลิ่นหอม แล้วตุ๋นจนเนื้อเปื่อยนุ่ม โดยส่วนผสมหลักที่ขาดไม่ได้ในเมนูนี้เลยก็คือ “ผงฮังเล” หรือ “ผงมัสล่า” ที่ทำมาจากเครื่องเทศต่าง ๆ มากมาย มีส่วนทำให้กลิ่น, รส และสีของแกงมีสีสวย หอม น่ารับประทาน ซึ่งผงฮังเลก็มีความคล้ายคลึงกับผงมาซาล่า (masala powder) เครื่องเทศจากอินเดีย โดยหน้าตาของแกงฮังเลก็มีความคล้ายคลึงกับแกงมัสมั่นหน่อย ๆ แต่กลิ่นและรสกลับมีกลิ่นอายของเมืองเหนืออย่างเต็มเปี่ยม มีรสเปรี้ยวนำ ตามด้วยเค็มอ่อน ๆ ได้ความหวานจากเนื้อหมูและรสเผ็ดเบา ๆ จากพริกแกงค่ะ
วัตถุดิบแกงฮังเล
- เนื้อหมูสามชั้น
- ขิงอ่อน
- ข่าแก่
- กะปิ
- กระเทียม
- ตะไคร้
- หอมแดง
- พริกแห้งเม็ดเล็ก
- พริกแห้งเม็ดใหญ่
- ถั่วลิสงคั่ว
- กระเทียมดอง
- ผงฮังเล
- เกลือ
- น้ำตาลอ้อย
- น้ำมะขามเปียก
- ซีอิ๊วขาว
- ซีอิ๊วดำ
- น้ำเปล่า
วิธีทำแกงฮังเล
ก่อนอื่นเราต้องมาตำพริกแกงกันก่อน เริ่มจากการล้างทำความสะอาดพริกแห้ง ตัดท่อนเอาเมล็ดและแกนกลางออก จากนั้นแช่น้ำจนนิ่ม หันมาซอยขิงอ่อนเป็นเส้น, ซอยข่าและตะไคร้ให้ละเอียด, ปอกเปลือกหอมกระเทียม จากนั้นหั่นเนื้อหมูเป็นชิ้นหนา ๆ พักไว้
โขลกเกลือและพริกแห้งให้ละเอียด ตามด้วยหอม, กระเทียม, ข่า และตะไคร้ โขลกให้ละเอียดอีกครั้ง ใส่พริกแห้งแช่น้ำ, หอมแดง และกะปิ โขลกต่อจนได้พริกแกงเนื้อเนียน ขั้นตอนนี้อาจจะใช้พลังแขนและเวลานานหน่อยนะคะ เมื่อได้พริกแกงเนื้อเนียนแล้วก็นำมาคลุกเคล้ากับหมูสามชั้น เติมผงฮังเลและนวดให้เข้าเนื้อ หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงให้หมูซึมซับความหอมของพริกแกง
ครบเวลาแล้วก็นำกระทะตั้งไฟ นำหมูลงรวนจนเนื้อหมูเริ่มตึงและส่งกลิ่นหอม จากนั้นเติมน้ำเปล่าให้ท่วมเนื้อหมู ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก, น้ำกระเทียมดอง, ซีอิ๊วขาว และซีอิ๊วดำเพิ่มสีสัน ตามด้วยถั่วลิสงคั่ว จากนั้นตุ๋นไฟกลางทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงจนน้ำมันหมูเริ่มออก ระหว่างนั้นก็คอยคนหมูเป็นระยะ เมื่อหมูเริ่มเปื่อยแล้วเราจะปรุงรสด้วยน้ำตาลอ้อย คนให้เข้ากันแล้วเคี่ยวต่อจนน้ำงวด น้ำแกงจะข้นและสีเข้มขึ้น ปิดท้ายด้วยกระเทียมดองและขิงเพิ่มรสชาติ เปิดเตาตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ (แนะนำเพื่อน ๆ คนไหนที่ชอบหมูสามชั้น เราก็มีไอเดียอร่อย ๆ มาฝากกันด้วยนะคะ)
10. ข้าวแต๋นน้ำแตงโม
ใครจะไปคิดว่าขนมขบเคี้ยวที่เราทานเล่นกันบ่อย ๆ อย่างข้าวแต๋นนี่จะมีวิธีทำการที่ง่ายและสามารถทำเองได้ที่บ้าน! เมนูนี้หลายคนคงจะเคยรับประทานกันแล้ว เพราะฉะนั้นคงจะไม่คงต้องบอกว่าความกรอบของข้าวแต๋นบวกความหวานและความหอมของน้ำตาลเคี่ยวนั้นทำให้เราแฮปปี้ได้มากแค่ไหน อย่ารอช้าเราไปดูวัตถุดิบและวิธีการทำกันเลยดีกว่าจ้า
วัตถุดิบข้าวแต๋นน้ำแตงโม
- ข้าวเหนียว
- แตงโม
- ใบเตย
- น้ำตาลโตนด
- เกลือ
- น้ำมันพืช
วิธีทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม
ล้างข้าวเหนียวให้สะอาดและแช่น้ำไว้เป็นประมาณ 1 คืนเพื่อให้เมล็ดข้าวพองตัวได้ง่าย หลังจากนั้นนึ่งข้าวให้สุก ระหว่างนึ่งข้าวหันมาผ่าแตงโมเป็นชิ้น แกะเอาเมล็ดออกแล้วคั้นหรือปั่นอาหารจนได้น้ำแตงโมเนื้อเนียน นำมากรองเอากากออกอีกครั้ง เติมเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ
เมื่อข้าวเหนียวสุกดีแล้วเทข้าวที่ยังร้อน ๆ อยู่ลงผสมกับน้ำแตงโม คนผสมให้น้ำแตงโมซุมเข้าเนื้อข้าวครบทุกเม็ดและข้าวร่วน ไม่จับตัวกันเป็นก้อน แช่ทิ้งไว้จนข้าวพองตัวขึ้นและดูดน้ำแตงโมจนหมด ทาน้ำมันพืชลงบนถาดหรือกระด้ง หลังจากนั้นตักข้าวเหนียวใส่พิมพ์ที่มีลักษณะกลม ไม่ต้องใหญ่มาก อัดให้ข้าวเป็นทรงกลมสวยแต่ไม่ต้องแน่นจนเกินไป นำไปตากแดดจัดจนแห้งสนิท
ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเยอะ ๆ เปิดไปกลางค่อนแรงแล้วตัดใบเตยเป็นชิ้น ๆ ลงไปทอดจนกรอบ วิธีนี้จะช่วยให้น้ำมันมีกลิ่นหอมใบเตยค่ะ จากนั้นตักใบเตยขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน เสร็จแล้วทิ้งให้น้ำมันร้อนจัด ใส่ข้าวแต๋นลงไปแล้วพลิกกลับไปมาจนข้าวแต๋นพองตัวสวย สีเข้มขึ้นจึงตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน ส่วนข้าวแต๋นที่เหลือก็สามารถเก็บไว้ทอดครั้งต่อไปได้อีกนานเลยค่ะ จากนั้นเทน้ำตาลโตนดใส่กระทะ ใช้ไฟอ่อน ๆ เคี่ยวจนน้ำตาลละลายเข้ากันดี ตักขึ้นพักไว้ให้หายร้อนหรือน้ำตาลเริ่มอุ่น ๆ ค่อยนำมาหยอดหน้าข้าวแต๋น สามารถโรยธัญพืชหรือคลุกถั่วเพิ่มเติมได้ตามต้องการเลยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับอาหารเมืองเหนือที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ ในบทความนี้ และถ้าสังเกตก็จะเห็นว่าอาหารเหนือส่วนใหญ่จะอัดแน่นไปด้วยเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์และอาหารแทบจะทุกชนิดจะมีสมุนไพรเป็นส่วนผสม อาจจะเป็นเพราะภาคเหนือค่อนข้างที่จะมีอากาศหนาวเย็นและเครื่องเทศสมุนไพรต่าง ๆ สามารถช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้นได้ค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีพริกแกงสำเร็จรูปวางขายทั้งในห้างร้านทั่วไปและบนอินเทอร์เน็ตช่วยให้การทำอาหารของเราง่ายขึ้นเยอะเลย อย่าลืมลองทำตามสูตรของเรากันนะคะ
ที่มาbestreview