“นึกถึงเมืองไทยนึกถึงต้มยำกุ้ง นึกถึงเยาวราชนึกถึงหูฉลาม”
ไกด์นำเที่ยวชาวไทยเชื้อสายจีนแนะนำข้อมูลกับคณะทัวร์กว่าสิบชีวิต ก่อนจะเดินเข้าภัตตาคารหรูที่มี “หูฉลาม” เป็นซิกเนเจอร์
—– สำรวจ “เยาวราช” แหล่งชุมนุมเมนู “หูฉลาม” —–
หากใครมีโอกาสได้แวะเข้ามาที่ “ถนนเยาวราช” จะพบว่าระยะทางเพียง 500 เมตร ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรี เรื่อยไปจนถึงแยกร้านทองฮั่วเซ่งเฮง สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านทองสลับกับภัตตาคาร ซึ่งเกือบจะทุกร้านอาหารมักแสดงเมนูไว้ด้านหน้าทางเข้า หากลองเปิดดูก็จะพบว่ารายการอาหารคล้ายคลึงกัน
หน้ารองปกและหน้าถัดไปถูกจับจองด้วย “เมนูหูฉลาม” แทบทั้งสิ้น ซึ่งราคาจะแตกต่างกันออกไปตามขนาดของวัตถุดิบ
“หูฉลามน้ำแดง (แผ่นใหญ่พิเศษ) S 6,000 M 8,000 L 10,000 บาท หูฉลามน้ำแดง (แผ่นใหญ่) S 3,000 M 4,000 L 5,000 บาท … หูฉลามน้ำแดง (แผ่นเล็ก) S 500 M 800 L 1,000 บาท”
เมนูอาหารของแต่ละภัตตาคารจะระบุรายละเอียดทั้งภาษาไทยและจีน ราคา พร้อมรูปภาพประกอบ ซึ่งแน่นอนว่าช่วยเร้าความสนใจของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากเมนูหูฉลามน้ำแดงแล้ว ยังมีเมนูอื่นๆ ที่ใช้หูฉลามเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น หูฉลามแผ่นจักรพรรดิ หูฉลามเซ็งตุ๋น หูฉลามผัดแห้ง และหูฉลามสามเซียน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนประกอบของหูฉลาม เป๋าอื้อ กระเพาะปลาสด โดยสนนราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 500 บาท
พนักงานต้อนรับของภัตตาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง บอกว่า หูฉลามน้ำแดงเป็นเมนูแนะนำของทางร้าน โดยมีต้นตำรับมาจากกุ๊กมณฑลแต้จิ๋ว ประเทศจีน ตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน พร้อมรับประกันว่าภัตตาคารแห่งนี้เป็นผู้บุกเบิกถนนเยาวราช
“หูฉลามมักจะถูกสั่งมาเพื่อแสดงความยินดีกับแขกคนสำคัญ หรือในโอกาสที่สำคัญ” พนักงานรายเดียวกันนี้ บอก
สำหรับผู้ที่กระเป๋าหนักไม่พอ ถนนเยาวราชยังมีทางเลือกอื่นๆ ให้ โดยช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 19.00 น.เป็นต้นไป จนถึง 22.00 น. จะมีร้านรถเข็นตั้งเรียงรายตลอดสองฟากฝั่งถนน ซึ่งเมนูก็มีทั้งซุปหูฉลาม ราคาเริ่มต้นที่ 300-500 บาท รวมไปถึงกระเพาะปลาผัดแห้ง กระเพาะปลา เป๋าฮือผัดคะน้า ผัดหมี่ฮ่องกง และรังนก
หญิงวัย 65 ปี ซึ่งยึดอาชีพขายซุปหูฉลาม-รังนก มาครึ่งชีวิต เล่าว่า เมนูหูฉลามที่วางขายตามภัตตาคารร้านส่วนใหญ่มีราคาแพง ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่อยาก “ทดลองชิม” จึงเลือกรับประทานที่ร้านรถเข็น ส่วนใหญ่จะมาเป็นกลุ่มและหุ้นกัน 1 หม้อ แบ่งกันกินหลายคน
นอกจากร้านอาหารจำนวนมากที่เปิดกันอย่างเรียงรายแล้ว ถนนเยาวราชยังมีร้านจำหน่าย ‘หูฉลามแห้ง” เป็นของฝากอีกด้วย โดยร้านเหล่านี้มักจะหลบตัวอยู่ตามตรอก-ซอยเล็กๆ แต่สามารถสังเกตได้ง่าย และกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งบริเวณ
“ร้านอาหารและผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อหูฉลามขนาดใหญ่ซึ่งจะให้เส้นใยที่มากกว่า เมื่อปรุงเป็นเมนูอาหารแล้วก็จะขายได้ราคาดีกว่า” เจ้าของร้านจำหน่ายหูฉลามแห้ง ให้ข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าหูฉลามขนาดใหญ่ ย่อมหมายถึงชีวิตของฉลามขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่า ราคาหูฉลามแห้งย่อมแปรผันไปตามขนาด โดยครีบยาวประมาณ 25 เซนติเมตร สนนราคากิโลกรัมละ 17,500-18,000 บาท ส่วนขนาดเล็กลงมาความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร อยู่ที่กิโลกรัมละ 5,400-5,500 บาท
—– เปิดความเชื่อ – ตำนานอาหาร ‘จักรพรรดิ’ —–
“หูฉลาม” หรือ “ฮื่อฉี่” ในสำเนียงแต้จิ๋ว ถูกยกย่องให้เป็นเมนูเลิศรสและเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของชาวจีน ซึ่งหากสืบค้นประวัติศาสตร์ย้อนหลังจะพบว่าเรื่องการอ้างถึงตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง
ชาวจีนเล่าต่อกันมาว่า ตามความเชื่อโบราณซึ่งมักจะอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง “หูฉลามคือยาอายุวัฒนะ” เมื่อรับประทานแล้วจะอายุยืนยาว โดยในอดีตซุปหูฉลามจะถูกปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่จักรพรรดิและชนชั้นสูงเท่านั้น
เมนูหูฉลามจึงกลายเป็น “เมนูต้องห้าม” สำหรับคนทั่วไป มีการปกปิดสูตรการปรุงไว้เป็นความลับ ใครนำไปบอกต่อหรือเผยแพร่เท่ากับลบหลู่เบื้องสูง ด้วยความเชื่อที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตเช่นนี้ จึงทำให้หูฉลามกลายเป็นเมนูล้ำค่าและมีราคาแพงในปัจจุบัน
มากไปกว่านั้น ทุกวันนี้หูฉลามยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “เบญจภาคีอาหารเหลา” ของชาวจีน เนื่องจากมีความเชื่อต่อๆ กันว่าหูฉลามสามารถบำรุงกำลังเพิ่มฮอร์โมน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และช่วยเพิ่มปริมาณเชื้ออสุจิให้มากขึ้น
ศุภกร สีม่วง เชฟอาหารจีน ในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ เล่าว่า ชาวจีนมองว่าหูฉลามเป็นอาหารชั้นเลิศ มีความหรูหราในตัวเอง ราคาแพง สามารถรักษาหรือต้านโรคมะเร็งได้ จึงเกิดเป็นค่านิยมในการรับประทาน
“ส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันในหมู่ชาวจีนผู้สูงอายุ รสสัมผัสจะกรุบๆ คล้ายคลึงกับการเคี้ยวกระดูกอ่อน รสชาติจืด ความอร่อยจึงขึ้นอยู่กับซุปน้ำแดงที่ปรุง การเลือกขนาดครีบขึ้นอยู่ความสามารถในการใช้จ่ายของลูกค้า แต่ไม่มีผลต่อความอร่อย และชนิดปลาฉลามก็ไม่มีผลเช่นเดียวกัน” เชฟศุภกร ซึ่งคร่ำหวอดในวงการอาหารจีนกว่า 30 ปี อธิบาย
นั่นทำให้เข้าใจได้ว่า สาระหลักของซุปหูฉลาม คือตัวซุป ไม่ใช่หูฉลาม
อย่างไรก็ดี โรงแรมในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ รวม 17 แห่ง เป็นโรงแรมที่ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ป้องกันการทารุณสัตว์ จึงมีนโยบายยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม ตับห่าน และรังนก 100% มาเป็นเวลานานแล้ว
—– เหมือนกินปลาธรรมดา – คุณค่าเท่าไข่ 1 ฟอง —–
เมื่อความเชื่อได้ข้ามผ่านกาลเวลา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏผ่านการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง กลับตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง
เพ็ชร ชินบุตร อดีตผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อทดสอบสารอาหารในหูฉลาม ยืนยันว่า สารอาหารในหูฉลามมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับรับประทานไข่ไก่ 1 ฟอง
“จากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยการนำหูฉลามและไข่ไก่ 1 ฟอง มาแยกปริมาณสารอาหาร ปรากฏว่ามีคุณค่าทางโภชนาเท่าๆ กัน แต่ในแง่ของความรู้สึกค่อนข้างต่างกัน” เพ็ชร อธิบาย
สอดคล้องกับ สง่า ดามาพงศ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุว่า หูฉลามเป็นอาหารที่มีโปรตีนเหมือนๆ กับปลาทั่วไป ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง
“หากพูดคิดในแง่เชิงโภชนาการแล้ว หูฉลามไม่ได้มีความวิเศษวิโสอะไรไปมากกว่าปลาทั่วๆ ไป”นักโภชนาการรายนี้ ยืนยันอีกเสียง
เจริญ เลิศเจริญโชค ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า เมนูหูฉลามเป็นเพียงเมนูอาหารธรรมดาทั่วไป ไม่ได้ช่วยต้านมะเร็งหรือช่วยให้อายุยืนยาวได้ตามคำล่ำลือ
“สรรพคุณเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในตำราแพทย์แผนจีนแต่อย่างใด” เขาพูดชัด
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏงานวิจัยหรือผลการศึกษาใดที่จะสามารถยืนยันคุณค่าทางโภชนาการ และสรรพคุณการรักษาโรคภัยต่างๆ หรือเป็นยาอายุวัฒนะได้
—– ‘ไทย’ ติด 1 ใน 10 ผู้ส่งออกหูฉลามรายใหญ่ของโลก —–
แม้จะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “หูฉลาม” แทบจะไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์สักเท่าใด หากแต่ “ค่านิยม” และ “ความเชื่อ” ที่ฝังหัวใครหลายคนมาอย่างยาวนาน กำลังนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนร่วมโลก ผ่านการรับบริโภคโดยไม่ยั้งคิด
องค์กรไวล์ดเอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) ได้เก็บข้อมูลและทำการศึกษาเกี่ยวกับประชากรของฉลามทั่วโลก พบว่าฉลามที่ตกเป็นเป้าหมายของการล่าคือฉลามสายพันธุ์ขนาดใหญ่ที่ขยายพันธุ์ช้า โดยประมาณว่า ในแต่ละปีมีฉลามถูกฆ่าอยู่ราวๆ 63-273 ล้านตัว
ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 100 ล้านตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่า 73 ล้านตัว ที่ถูกฆ่าเพียงเพื่อนำครีบไปประกอบอาหาร
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวเรื่องสถานการณ์ฉลาม โดยขณะนี้มีกว่า 30 ประเทศ ที่ออกกฎหมายห้ามจับฉลามเพื่อตัดครีบ มี 22 ประเทศที่ออกกฎหมายห้ามจับฉลามเป็นรายกรณี อาทิ ห้ามจับเพื่อการพาณิชย์ ห้ามจับเป็นช่วงเวลา ห้ามจับในน่านน้ำที่กำหนด และมี 12 ประเทศ ที่ออกกฎหมายห้ามจับฉลามในทุกๆ กรณี ซึ่งทุกประเทศเห็นตรงกันว่าฉลามมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก
สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามจับ-ตัดครีบฉลาม นั่นจึงไม่แปลกที่ประเทศไทยกลายมาเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ส่งออกหูฉลามมากที่สุดในโลก
รายงานเรื่อง “สถานการณ์ผลิตภัณฑ์จากฉลามในตลาดโลก” โดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีตลาดการค้าครีบฉลามที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยระหว่างปี 2550-2555 มีสถิติการนำเข้าสูงถึง 136 ตัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในตลาดโลกในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูปมูลค่าต่ำรายสำคัญอีกด้วย
สอดคล้องกับรายงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ปี 2555-2559 ที่ระบุว่าประเทศไทยส่งออกครีบฉลามและผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูปมากกว่า 22,457 ตัน มูลค่า 3,275.53 ล้านบาท และนำเข้าครีบฉลามและผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูปมากกว่า 451.57 ตัน มูลค่า 124.6 ล้านบาท
—– บทสรุปชะตากรรมอันแสนเศร้าของ “เจ้าสมุทร” —–
ไม่น่าเชื่อว่านักล่าแห่งท้องทะเลในฐานะผู้รักษาความสมดุลระบบนิเวศของมหาสมุทร แหวกว่ายอยู่ในโลกใบนี้มานานกว่า 400 ล้านปีแล้ว โดยข้อมูลตามหลักชีววิทยายืนยันว่าฉลามเกิดก่อนไดโนเสาร์ถึง 250 ล้านปี
ทว่า ทุกวันนี้ฉลามกำลังเผชิญกับชะตากรรมอันแสนเศร้าจากน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งเกิดตามหลังมาอย่างยาวนาน
เมื่อพูดถึงฉลาม หลายคนอาจนึกถึงสัตว์ร้ายกระหายเลือดตามที่ปรากฏในภาพยนตร์มากมาย อย่างล่าสุดเรื่อง 47 Meters Down (47 ดิ่งลึกเฉียดนรก) ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของสองสาวในทะเลแถบเม็กซิโก ที่มีฉลามนับสิบคอยจะขย้ำพวกเธอ
แต่ในความเป็นจริงฉลามกลับเป็นเจ้าทะเลที่ไม่ได้น่ากลัวเลยเมื่อเทียบกับมนุษย์ แต่ละตัวถูกจับขึ้นมาเฉือนครีบสดๆ ก่อนที่ร่างซึ่งกำลังดิ้นทุรนทุรายจะถูกโยนทิ้งลงก้นทะเลอย่างไร้ความหมาย เพียงเพราะรกพื้นที่เรือ
ตัวแล้วตัวเล่าเลือดท่วมเจิ่งนองผิวน้ำทะเลและจมหาย ศพแล้วศพเล่าขาดลมหายใจอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส
“ซุปหูฉลาม” ร้อนๆ ที่อยู่ตรงหน้า นั่นหมายถึง 1 ชีวิตที่ถูกพรากไปตลอดกาล
ที่มาgreennews.agency