7 ขั้นตอนปฏิวัติชีวิตเพื่อสุขภาพการเงินที่แข็งแรง ตามฉบับ Dave Ramsey
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเงินที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว เหมาะสำหรับคนธรรมดาที่ไม่รู้ว่าจะรวยเมื่อไหร่ ไปจนถึงคนที่มีหนี้สินมากมาย ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำแนะนำเพื่อ ความสำเร็จด้านการเงิน ที่ดีที่สุดอันหนึ่ง คือ การปฏิวัติชีวิต 7 ขั้นตอน ที่ Dave Ramsey เขียนไว้ในหนังสือ The Total Money Makeover
ความสำเร็จด้านการเงินส่วนบุคคลนั้น 20% มาจากความรู้ แต่ 80% เป็นผลมาจากพฤติกรรมของเราเอง Dave ได้แนะนำขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินของเราแบบเป็นขั้นเป็นตอน โดยให้ทำขั้นแรกเสร็จก่อน จึงเริ่มทำขั้นต่อไปตามลำดับ มีทั้งหมด 7 ขั้นตอนดังนี้
0. ทำงบประมาณการใช้จ่าย
ก่อนจะเริ่มขั้นแรกอย่างเต็มตัว เราต้องรู้จักการทำงบประมาณรายจ่ายในแต่เดือนของเรา เช่น เดือนหน้าเราจะมีเงินเข้ากระเป๋าเรา 20,000 บาท เราจะนำเงินทั้งหมดนี้ไปทำอะไรบ้าง รวมถึงจะออมกี่บาทด้วย ให้เขียนแผนทุกเดือน เดือนต่อเดือนไปเรื่อยๆ ให้เราเป็นนายของเงิน กำหนดให้เงินจำนวนเท่าไหร่ไปทำอะไรบ้าง
- เก็บเงินสด 10,000 บาท* เป็นทุนตั้งต้นสำหรับเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินของเรา
ออมเงินให้ได้ 10,000 บาทให้เร็วที่สุด เงินจำนวนนี้จะเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ หากต่อมาเราไปถึงขั้นต่อไปแล้ว แต่มีเหตุให้ใช้เงินฉุกเฉิน เราจะต้องกลับมาที่ขั้นนี้ใหม่เพื่อเติมเงินฉุกเฉินของเราให้เต็มอีกครั้งก่อนจะไปต่อ
- จ่ายหนี้ให้หมด ไม่รวมหนี้บ้าน
ทำรายการหนี้สินทั้งหมดที่เรามี โดยเรียงจากจำนวนน้อยที่สุดไปมากที่สุด เราต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำสำหรับหนี้ทุกก้อน แต่ให้จ่ายหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดให้มาก เราหาเงินได้เพิ่มเท่าไหร่ ให้นำไปโปะหนี้ก้อนเล็กนี้ก่อนจนจ่ายหมด แล้วขยับมาโปะก้อนต่อๆ ไป จนหมดทุกก้อน ยกเว้นเงินกู้บ้านซึ่งถือเป็นก้อนใหญ่และเราจะจ่ายให้หมดในภายหลัง
ขั้นตอนนี้จะสำเร็จได้เราต้องเสียสละ ทำงานหนัก และมุ่งมั่น เราอาจต้องทำงานพิเศษเพิ่มเติม ขายอะไรได้ให้ขายไปก่อน รวมถึงหยุดลงทุนเพื่อการเกษียณแม้ว่าบริษัทจะสมทบให้ก็ตาม เป้าหมายของขั้นนี้คือจ่ายหนี้ให้หมดก่อน และตั้งแต่นี้เป็นต้นไปไม่ก่อหนี้เพิ่มอีก
- เติมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินของเราให้เต็ม
ประมาณ 18-20 เดือนหลังจากเริ่มปฏิวัติชีวิต เราน่าจะมาถึงขั้นที่สามนี้ ขั้นนี้ให้ต่อยอดจากเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินตั้งต้นของเรา โดยหลักทั่วๆ ไปแล้วเราควรจะมีเงินสำรองไว้ให้สามารถใช้จ่ายได้ 3-6 เดือน เช่น หากค่าใช้จ่ายต่อเดือนของเราคือ 15,000 บาท เราควรจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินทั้งหมด 45,000-90,000 บาท
- นำเงิน 15% ของรายได้ไปลงทุนเพื่อใช้ในวัยเกษียณ
นำเงิน 15% ของรายได้ก่อนหักภาษีไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลามากกว่า 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยให้เลือกกองทุนที่นายจ้างหรือรัฐสมทบก่อน และอาจจะกระจายการลงทุนในกองทุนหุ้นแบบต่างๆ เช่น หุ้นเติบโตและหุ้นปันผล หุ้นต่างประเทศ เป็นต้น
- เก็บเงินให้ลูกได้เรียนต่อ
กฎของการเรียนต่อในระดับสูง หรือระดับมหาวิทยาลัยนั้น หนึ่ง คือให้จ่ายเงินสด สองคือเราต้องมีเงินสดหรือทุนการศึกษา ไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม การเริ่มเก็บเงินสำหรับการศึกษาลูกตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เขาไม่ต้องเป็นหนี้
- จ่ายหนี้บ้านให้หมด
ถ้าต้องกู้มาซื้อบ้าน แนะนำให้ผ่อนชำระหนี้บ้านไม่เกิน 15 ปี กู้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ และยอดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 25% ของรายได้เรา แต่ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากให้กู้เลย ในขั้นนี้เราจะจ่ายหนี้บ้านให้หมด ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา คนส่วนมากสามารถทำขั้นตอนนี้ได้สำเร็จภายใน 7 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปฏิวัติชีวิต
- สร้างความมั่งคั่ง
เมื่อมาถึงขั้นนี้ เราไม่มีหนี้สินแล้ว และใช้ชีวิตเป็นนายของเงิน เงินที่เรามีมากพอ สามารถนำไปซื้อความสุขให้ชีวิต แบ่งปันให้คนอื่น รวมทั้งลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งได้ ให้เรามีความอดทนในการลงทุนและอยู่ท่ามกลางเหล่าคนเก่งที่สามารถแนะนำเรื่องการส่งต่อความมั่งคั่ง ภาษี ประกัน มรดก การลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ให้เราได้ เพื่อที่วันหนึ่งเราจะไปถึงจุดสูงสุดที่เงินสามารถทำงานได้ผลตอบแทนมากกว่าตัวเราทำเอง และเพียงพอกับค่าใช้จ่าย
7 ขั้นตอนความสำเร็จด้านการเงินนี้เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงิน อาจทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วๆ ไปได้ แต่ในบั้นปลายจะส่งผลให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างสบายใจแบบที่ไม่มีใครเหมือน มีคนมากมายได้พิสูจน์แล้วว่าเขามั่งคั่งขึ้นได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน
อ้างอิง: หนังสือ The Total Money Makeover เขียนโดย Dave Ramsey
หมายเหตุ: * จำนวนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้มีการปรับให้เหมาะสมกับรายได้และค่าครองชีพในประเทศไทยยิ่งขึ้น
เขียนโดย มานี ปิติ
ที่มาmoneyhub.in.th