ประวัติกำเนิด อาวุธนิวเคลียร์ ยุทโธปกรณ์ที่เปลี่ยนโลกทั้งใบจนทุกวันนี้
ประวัติกำเนิด อาวุธนิวเคลียร์ ยุทโธปกรณ์ที่เปลี่ยนโลกทั้งใบจนทุกวันนี้
ทหารจากกองบินที่ 11 สหรัฐอเมริกา ดูการระเบิดของ อาวุธนิวเคลียร์ ในระยะใกล้ที่ทะเลทรายในลาส เวกัส เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1951 ภาพถ่ายโดย BETTMANN, GETTY
การกำเนิดของ อาวุธนิวเคลียร์ ได้เปลี่ยนกระแสประวัติศาสตร์โลกไปทั้งใบ ในภายหลังนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้แสดงความเสียใจที่พวกเขามีบทบาทในการสร้างอาวุธที่สามารถลบล้างทุกสิ่งและมนุษย์ทุกคนในรัศมีใกล้เคียงได้ในเวลาไม่กี่วินาที
เวลา 05:30 น. วันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ลำแสงที่แผดแรงยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นเหนือรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา มันคือลูกไฟที่ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างในบริเวณใกล้เคียง และผลิตเมฆรูปเห็ดที่พุ่งขึ้นสูงมากกว่า 11 กิโลเมตร
หลังจากนั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ได้สร้างการระเบิดนี้ขึ้นมาต่างหัวเราะและสัมผัสมือในระหว่างการดื่มฉลองความสำเร็จ พวกเขาเพิ่งสร้างการระเบิดนิวเคลียร์ครั้งเป็นแรกของโลก
การทดสอบที่มีชื่อว่า ‘ทรินีตี’ (Trinity) นั้นถือเป็นชัยชนะและเป็นการพิสูจน์ว่านักวิทยาศาสตร์สามารถควบคุมพลังจากการแตกตัวของพลูโตเนียม ทำให้โลกเข้าสู่ยุคอะตอม (atomic age) ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าของการสงครามและความสัมพันธ์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ไปตลอดกาล และไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันสามารถลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างบนผืนดินและคร่าชีวิตผู้คนมหาศาลในเวลาเพียงไม่กี่วินาที
นักวิทยาศาสตร์พยายามไขคำตอบในเรื่องวิธีการผลิตการแตกตัวของนิวเคลียร์ (Nuclear Fission) หรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่ออะตอมของนิวเคลียร์แตกตัวจนผลิตพลังได้อย่างมหาศาล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีการค้นพบมาในช่วงทศวรรษ 1930 โดยพรรคนาซีของเยอรมนีพยายามทดลองทำอาวุธจากพลังงานชนิดนี้ก่อน และข้อมูลของความพยายามนี้ได้มีการรั่วไหลไปยังนอกประเทศพร้อมกับความไม่ลงรอยทางการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกเนรเทศจากเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิว
ในปี 1941 นักวิทยาศาสตร์ชาวยิวที่อพยพมาจากเยอรมนีอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ส่งคำเตือนไปยัง แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าในขณะนั้นเยอรมนีอาจพยายามทดลองการพัฒนาระเบิดปรมาณู (fission bomb) ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมการแข่งขันพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรก มีการเริ่มโครงการวิจัยด้านอะตอมแบบลับๆ ภายใต้รหัสที่ชื่อว่า โครงการแมนฮัตตัน ซึ่งนำเอานักฟิสิกส์ระดับแนวหน้าของประเทศรวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกพรรคนาซีขับไล่มาจากเยอรมนีและประเทศอื่นๆ มาทำงานร่วมกัน
โครงการนี้ ดำเนินไปในหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองลอสอาลามอส รัฐนิวเม็กซิโก ไปจนถึงเมืองโอคริดจ์ รัฐเทนเนสซี แม้ว่าโครงการพัฒนานี้จะมีคนราว 600,000 คนที่ทำงานอยู่ แต่ก็เป็นโครงการลับจนหลายที่ทำงานอยู่ไม่รู้ว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่ทำอยู่สอดรับกับจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่แค่ไหน โดยบรรดานักวิจัยต่างทำงานในสองสิ่งที่เกี่ยวกับการคิดค้นอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ งานที่เกี่ยวข้องกับแร่ยูเรเนียม และอีกสิ่งคืองานซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่า นั่นคืองานที่เกี่ยวข้องกับแร่พลูโตเนียม
หลังจากทำการวิจัยมานานนับปี โครงการแมนฮัตตันก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ในปี 1945 เมื่อการผลิต ‘อุปกรณ์’ (the gadget) หรือหนึ่งในสามของระเบิดพลูโตเนียมที่ผลิตขึ้นก่อนการสิ้นสุดของสงครามประสบความสำเร็จ สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาระเบิดยูเรเนียมที่ไม่ได้มีการทดสอบ
แม้ว่าจะมีศักยภาพที่ชัดเจนที่อาวุธเหล่านี้จะสามารถยุติเส้นทางของสงครามโลกครั้งที่สองที่กำลังดำเนินอยู่ นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระเบิดชนิดนี้ได้ปฏิเสธการใช้งานในสงคราม Leo Szilard นักฟิสิกส์ที่ค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ลูกโซ่ (Nuclear chain reaction) ได้ร้องขออำนาจสั่งการจากประธานาธิบดีแฮรรี เอส. ทรูแมน (ที่รับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีโรสเวลต์) ว่าไม่ให้ใช้มันในสงคราม แต่คำร้องขอของเขาที่มีการยื่นพร้อมลายเซ็นจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนฮัตตันนั้นไม่ถูกรับฟังแต่อย่างใด
วันที่ 6 สิงหาคม 1945 เครื่องบิน บี-29 ได้ทิ้งระเบิดยูเรเนียมที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นอันเป็นความพยายามให้ญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข และ 3 วันต่อมา สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดพลูโตเนียม ซึ่งเป็นระเบิดเช่นเดียวกับที่ใช้ในการทดสอบทรินิตี ลงที่เมืองนางาซากิ การโจมตีทั้งสองเมืองนี้ทำให้มีพลเมืองบาดเจ็บและล้มตายไปกว่า 200,000 คน
ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่าการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ครั้งนี้มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ นั่นคือเพื่อข่มขวัญสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำโซเวียตอย่าง โจเซฟ สตาลิน ได้ให้ไฟเขียวโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 1943 และหนึ่งปีครึ่งหลังจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น โซเวียตประสบความสำเร็จในการทดลองปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์เป็นครั้งแรก และในปี 1949 โซเวียตได้ทดสอบการใช้งานอุปกรณ์นิวเคลียร์ (Nuclear Device) เป็นครั้งแรกในปี 1949
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นเรื่องตลกร้ายที่บรรดาผู้นำทางการเมืองในสหรัฐฯ กลับมองว่าการสร้างระเบิดนิวเคลียร์จะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งและช่วยปกป้องโลกไม่ให้พบกับสงครามโลกครั้งที่สามโดยการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีศักยภาพในการบดขยี้สหภาพโซเวียต แต่ในปี 1961 โซเวียตก็ได้ทดลอง Tsar Bomba อาวุธร้ายแรงที่สามารถก่อให้เกิดพลังระเบิดเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 50 เมกะตันและผลิตเมฆรูปเห็ดที่มีความสูงเท่าภูเขาเอเวอเรสต์
“แม้ว่าพวกเขาจะมีระเบิดมากเท่าใดหรือการระเบิดจะรุนแรงมากแค่ไหน พวกก็ต้องการระเบิดที่รุนแรงมากกว่าเดิมอยู่ดี” Craig Nelson นักประวัติศาสตร์กล่าวและเสริมว่า “มันไม่มีคำว่าพอหรอกครับ”
เนื่องจากมีประเทศอื่นๆ ได้พัฒนาความสามารถในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองและคลื่นสงครามเย็นได้แผ่ขยายไปในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ไปต้นถึงต้นทศวรรษ 1960 ขบวนการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้เติบโตขึ้นเพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากอาวุธนิวเคลียร์และการทดสอบอาวุธที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์และสาธารณชนได้เริ่มการห้ามการทดสอบอาวุธไปจนถึงขอให้มีการปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยไอน์สไตน์ ผู้ที่เริ่มเตือนประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ที่ดำเนินการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และในปี 1955 ได้มีแถลงการณ์โดยกลุ่มนักฟิสิกส์และปัญญาชนร้องขอให้โลกยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ “เราจะผลักให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ไปสู่จุดจบ หรืออยากให้มนุษยชาติละทิ้งการทำสงคราม”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีคำตอบให้กับประเด็นนี้ จากนั้นในปี 1962 มีรายงานว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตอยู่ในประเทศคิวบาซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missle Crisis) อันเป็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งอาจทำให้เกิดหายนะทางนิวเคลียร์ได้
เพื่อตอบสนองสิ่งที่นักรณรงค์ต่างกังวล ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต (ซึ่งต่อมาคือรัสเซีย) ได้ลงนามข้อตกลงในสนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์บางส่วน (a partial test ban treaty) ในปี 1963 ตามมาด้วยสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons) ในปี 1968 และข้อตกลงอื่นๆ ที่ตามมาเพื่อจำกัดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์
แต่ในต้นปี 2020 มีการประมาณการว่ามีจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ 13,410 ลูกบนโลก ซึ่งลดลงจากจำนวนที่มากที่สุดคือ 70,300 ลูกในปี 1986 ตามข้อมูลจากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (FAS) โดย FAS รายงานว่าร้อยละ 91 ของหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่บนโลกถูกครอบครองโดยสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ เช่นฝรั่งเศส จีน สหราชอาณาจักร อิสราเอล ปากีสถาน อินเดีย และเกาหลีเหนือ และอิหร่านที่ต้องสงสัยว่าพยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง
แม้ว่าจะมีภัยอันตรายจากการแพร่หลายของอาวุธนิวเคลียร์ และมีระเบิดนิวเคลียร์เพียงสองลูกที่ถูกใช้งานจริงระหว่างสงครามในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ แต่ก็มีข้อเขียนจากสำนักงานสหประชาชาติเพื่อการลดอาวุธ (United Nations Office for Disarmament Affairs) ว่า ‘อันตรายจากอาวุธชนิดนี้ยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการมีอยู่ของมัน’
75 ปีหลังจากการทดสอบทรินิตี มนุษยชาติได้รอดพ้นจากยุคนิวเคลียร์ แต่ในโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์นับหมื่น พันธมิตรทางการเมืองโลกที่เปลี่ยนหน้ากันอยู่ตลอดเวลา และการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์ที่ให้กำเนิดเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
.ที่มาngthai